กรมควบคุมโรค วอนลูกหลาน ใส่ใจสุขภาพอนามัยผู้สูงอายุ 

17 Apr, 2014 จำนวนคนอ่าน 3,449



กรมควบคุมโรค
วอนลูกหลาน   ใส่ใจสุขภาพ อนามัยผู้สูงอายุ

(แหล่งที่มาของข่าว : ThaiPR.net) http://www.ryt9.com/s/prg/1878922
 

         ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ประชาชนจะเฉลิมฉลองกัน เนื่องจากมีช่วงวันหยุดยาว สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือปัญหาการละเลยการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีมากถึงร้อยละ 12.63 และประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในเขตภาคเหนือลูกหลานควรสอดส่องดูแลผู้สูงอายุ เพราะอาจเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม แล้วเกิดอาการ ฟกช้ำ หรือรุนแรงจนกระดูกหัก รวมทั้งเกิดความพิการและเสียชีวิตตามมาได้  

           นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มวัยที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะผู้สูงอายุส่วนมากนอกจากจะมีความเสื่อมของร่างกายตามวัยแล้ว ยังอาจมีโรคเรื้อรังที่ต้องการดูแล เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ปัญหาทางด้านสุขภาพอนามัยที่พบเสมอ คือ การบาดเจ็บจากการหกล้มหรือพลัดตกที่สูง ข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551 - 2552 โดยสำนักโรคไม่ติดต่อกรมควบคุมโรค พบว่า การบาดเจ็บในผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการพลัดตกหกล้ม ทั้งนี้จากการสอบถามประวัติการพลัดตกหกล้มใน 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีความชุกร้อยละ 18.5 เป็นเพศหญิงสูงกว่าเพศชาย (ร้อยละ 21.9 และ 14.4 ตามลำดับ) โดยมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 55) หกล้มในตัวบ้านและในบริเวณรั้วบ้าน อาทิ ห้องนอน ห้องครัวและห้องน้ำ ในขณะที่เพศชายร้อยละ 60 หกล้มบริเวณนอกบ้าน ขณะเดินทาง และในสถานที่ทำงาน เช่น ถนนในซอยและถนนใหญ่ ข้ามสะพาน จักรยาน/มอเตอร์ไซค์ล้ม บนรถเมล์ไร่ นาและฟาร์มเลี้ยงสัตว์ สาเหตุหลักของการหกล้มส่วนใหญ่มาจากพื้นลื่น สะดุดสิ่งกีดขวาง การเสียการทรงตัว พื้นต่างระดับ หน้ามืดวิงเวียน รวมถึงสาเหตุจากสิ่งแวดล้อมอย่างถูกกระแทกหรือตกบันได ซึ่งภายหลังการพลัดตกหกล้มแล้ว ประมาณครึ่งหนึ่งมีอาการฟกช้ำ รองลงมาคือมีอาการปวดหลัง และรุนแรงจนกระดูกหัก รวมทั้งเกิดความพิการและเสียชีวิตตามมา

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุและดูแลสุขภาพอนามัยในผู้สูงอายุ ประชาชนควรพาผู้สูงอายุภายในบ้านเข้าร่วมกิจกรรมกับครอบครัว เพื่อนบ้าน เป็นประจำ รวมทั้งเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุในชุมชน ให้ผู้สูงอายุบริโภคอาหารที่ย่อยง่าย สะอาด ไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน เค็มจัด และรับประทานผัก ผลไม้เป็นประจำ ส่งเสริมให้ออกกำลังกาย โดยเน้นฝึกการทรงตัว และฝึกทักษะการเคลื่อนไหว เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ได้แก่ การเดิน โยคะ ไทเก๊ก รำมวยจีนและรำไม้พอง รวมทั้งดูแลให้ผู้สูงอายุเปลี่ยนท่าช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะความดันตกในท่ายืน อาจมีอาการหน้ามืด วิงเวียน เป็นลม ขณะที่ลุกขึ้นนั่งหรือยืนทุกครั้ง และสังเกตอาการ ความบกพร่องของการทรงตัว ดูแลการใช้ยา สังเกตอาการ และปรึกษาแพทย์ ได้แก่ ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต และยาขับปัสสาวะ หรือมีประวัติการใช้ยาเป็นประจำตั้งแต่ 4 ชนิดขึ้นไป และ สังเกตและตรวจความผิดปกติของการมองเห็น เช่น มองเห็นไม่ชัดเจน ตาพร่ามัว และไม่สามารถแยกความลึก/ระยะ
“ในโอกาสนี้ ขอย้ำเตือนว่า เทศกาลสงกรานต์นี้ช่วยกันดูแลสุขภาพอนามัยผู้สูงอายุ ไม่ให้อยู่ตามลำพัง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ พร้อมทั้งเอาใจใส่ดูแลสภาวะจิตใจของท่าน ประชาชนที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคไม่ติดต่อ 02-950-3967 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์โสภณ กล่าวปิดท้าย


  

แสดงความคิดเห็น